โครงการส่งเสริมและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human capital)

     กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ป้อนกำลังคนในสายที่เป็นความต้องการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และวิชาชีพสาขาขาดแคลนให้ตลาดแรงงาน โดยเมื่อเรียนจบแล้วจะได้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษไม่เกิน 0.5% ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้น 30-50%

     นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า “กองทุน ได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำ “โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” โดยจะดำเนินการระหว่างปีการศึกษา 2562 – 2566 (5 ปีการศึกษา) สำหรับนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินในระดับปริญญาตรี เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 30 สำหรับนักเรียน/นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินในระดับอาชีวศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษา ในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 50 แต่หากผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถสำเร็จการศึกษาหรือไม่ได้สำเร็จการศึกษา   ตามสาขาวิชาที่กำหนดไว้หรือผิดนัดชำระหนี้ จะไม่ได้รับการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดและไม่ได้รับส่วนลดเงินต้น โดยจะต้องชำระหนี้ตามระเบียบของกองทุน ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มกำลังแรงงานในอนาคตที่สามารถตอบสนองความต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจให้ตรงกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0

     ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10) อุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร  และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมระบบราง 2) อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี และ 3) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์

     โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับอาชีวศึกษาเห็นความสำคัญของสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสนใจอยากเข้าศึกษาเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการต่อยอดให้กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และ 3 โครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นความต้องการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น EEC และเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี และระดับอาชีวศึกษาที่อยู่ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย  และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเป็นการป้อนกำลังคนในสายอาชีวะ/สายวิชาชีพ ที่ยังขาดแคลนให้ตลาดแรงงานอื่นๆ อีกด้วย” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด

     มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตมีสาขาที่เข้าร่วมโครงการนี้จำนวน 8 สาขาวิชา ได้แก่

               1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการบิน มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
               2. หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสังคมออนไลน์และสารสนเทศดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
               3. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
               4. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
               5. หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
               6. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
               7. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
               8. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

และนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษาดังกล่าวต่อไปนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา นำข้อมูลเข้าในระบบ E-studentloan เรียบร้อยแล้ว ดังนี้
          ปีการศึกษา 2562
          ปีการศึกษา 2563
          ปีการศึกษา 2564
          ปีการศึกษา 2565
          ปีการศึกษา 2566